Posted by: thaifarmer | กุมภาพันธ์ 27, 2011

การทำ EM จากเศษผักผลไม้

อีเอ็ม หรือน้ำจุลินทรีย์   มีลักษณะเป็นของเหลว  สีน้ำตาลดำ  มีกลิ่นอมเปรี้ยวอมหวาน ค่า พีเอช อยู่ที่ประมาณ 3.5  ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่มีชีวิตจำนวนมากกว่า 80 ชนิด จึงไม่สามารถใช้ร่วมกับสารเคมี หรือยาปฏิชีวนะและยาฆ่าเชื้อต่างๆ ได้      อีเอ็ม ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต  เช่น  คน  สัตว์  พืช  และแมลงที่เป็นประโยชน์    แต่ช่วยปรับสภาพความสมดุลของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม   ถ้านำไปใช้ในการล้างตลาด จะช่วยกำจัดกลิ่นเหม็น  ลดจำนวนสัตว์และแมลงพาหะนำโรค  ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก   อีเอ็ม จะทำงานในที่มืดได้ดี ดังนั้น การล้างตลาด ควรกระทำในช่วงเวลาเย็น เพื่อให้การกำจัดสิ่งสกปรกทั้งหลายเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ลักษณะเฉพาะของ อีเอ็ม คือ   เป็นจุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์ ดังนั้น เวลาจะใช้ อีเอ็ม ต้องคิดอยู่เสมอว่า อีเอ็ม เป็นสิ่งมีชีวิต ต้องการที่อยู่ที่เหมาะสมในอุณหภูมิปกติ  ไม่ร้อนเกินไป หรือเย็นเกินไป ต้องการอาหารจากธรรมชาติ เช่น น้ำตาล รำข้าว โปรตีน และสารประกอบอื่น ๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต  เราจึงสามารถขยายหรือผลิต อีเอ็ม  ได้เองจากพืชผักผลไม้และผลผลิตจากธรรมชาติ โดยนำไปหมักตามกรรมวิธีที่ถูกต้อง

การผลิต อีเอ็ม เพื่อใช้ในกิจกรรมตลาดสด หรือกิจกรรมอื่นใดก็ตาม ก่อนอื่นต้องผลิต  หัวเชื้อจุลินทรีย ในปริมาณตามที่ต้องการ  แล้วจึงนำหัวเชื้อที่ได้ไปขยายเป็น  อีเอ็ม อีกทีหนึ่ง

ขั้นตอนการทำหัวเชื้อจุลินทรีย์
เริ่มจากการนำผักผลไม้มาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปใส่ภาชนะปิดฝาให้มิดชิด  ขั้นตอนต่อมาให้นำผักผลไม้ไปผสมกับกากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลทรายขาว ในอัตราส่วน 3 กิโลกรัม ต่อน้ำตาล 1 กิโลกรัม  จากนั้นคลุกเคล้าให้เข้ากัน  เมื่อดูว่าส่วนผสมต่างๆ เข้ากันดีแล้ว ให้ปิดฝาทิ้งไว้ แล้วควรหมั่นกวนทุก ๆ 5-7 วัน เพื่อให้เศษผักสัมผัสกับอากาศ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการย่อยสลายได้ดีขึ้น  โดยหมักทิ้งไว้ 1-2 เดือน เมื่อครบกำหนดจะสังเกตเห็นมีน้ำออกมาผสมอยู่      ซึ่งน้ำที่ได้จากการหมักนี้ก็คือน้ำหัวเชื้อจุลินทรีย์นั่นเอง          ส่วนการเก็บรักษานั้นให้นำน้ำหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ได้ รินเก็บใส่ไว้ในขวดปิดฝาให้สนิท พร้อมที่จะเอาไปใช้ประโยชน์หรือนำไปใช้หมักทำน้ำจุลินทรีย์ (EM) ต่อไป

ขั้นตอนการทำน้ำจุลินทรีย์ (EM)
วิธีการจะคล้าย ๆ กับการทำน้ำหัวเชื้อจุลินทรีย์ ต่างกันตรงที่ ระยะเวลาในการหมักจะสั้นกว่าเท่านั้นเอง

ก่อนอื่นเราต้องเตรียมอุปกรณ์การทำ ดังนี้

1. ถังพลาสติกมีฝาปิด
2. ถุงปุ๋ย
3. กากน้ำตาล (โมลาท) หรือน้ำตาลทรายแดง
4. หัวเชื้อจุลินทรีย์
5. เศษผักผลไม้  เศษอาหาร

เมื่อเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมแล้ว ก็มาสู่ขั้นตอนการหมัก

ขั้นตอนแรก ใส่น้ำลงไปในถัง จำนวน 8 ลิตร  ถ้าหากใช้น้ำประปา ควรใส่ถังเปิดฝาทิ้งไว้
2 วัน   เพื่อให้คลอรีนระเหยไปเสียก่อน

ขั้นตอนที่ 2 นำกากน้ำตาล 250 ซีซี.  หรือน้ำตาลทรายแดง 300 กรัม (ประมาณ 3 ขีด) เทใส่ลงไป  คนให้ละลาย

ขั้นตอนที่ 3 นำน้ำหัวเชื้อจุลินทรีย์ 250 ซีซี. ผสมลงไป คนให้เข้ากัน

ขั้นตอนที่ 4 เมื่อคนส่วนผสมต่าง ๆ เข้ากันดีแล้ว ให้นำเศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงไปในถุงปุ๋ย แล้วนำถุงปุ๋ยนั้นใส่ลงในถังหมักดังกล่าว กดให้น้ำท่วมถุง หรือหาวัตถุที่มีน้ำหนักวางทับลงไปอีกทีหนึ่ง  จากนั้นก็ปิดฝาให้สนิท

ในกรณีที่เราจะหมักเศษอาหารหรือเศษผักผลไม้เพิ่มเติมลงไปในนั้น ก็สามารถนำไปใส่ลงในถุงปุ๋ยได้เช่นกัน  แต่ถ้าหากน้ำจุลินทรีย์มีปริมาณไม่พอที่จะท่วมเศษอาหารในถุงปุ๋ยได้ ก็ให้เติมน้ำเปล่าและกากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายแดงลงไป ในอัตราส่วน   น้ำเปล่า 8 ลิตร ต่อกากน้ำตาล 250 ซีซี. หรือน้ำตาลทรายแดง 300 กรัม ผสมลงไป เมื่อผสมส่วนต่าง ๆ จนครบแล้ว ให้หมักทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน เราก็สามารถนำน้ำจุลินทรีย์ธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้

ประโยชน์ของน้ำจุลินทรีย์
น้ำจุลินทรีย์ที่ได้นั้นจะมีกลิ่นหอมปราศจากกลิ่นเหม็น  น้ำจุลินทรีย์หรือขยะหอมที่ได้นั้นออกจะดูสีสรรไม่สวย แต่เมื่อพูดถึงประโยชน์ในการใช้งานแล้ว มีมากมายหลายประการด้วยกัน เช่น ถ้าที่ไหนส้วมเต็ม หรือท่อระบายน้ำอุดตัน  เพียงแค่เทน้ำจุลินทรีย์ธรรมชาติลงไป  จุลินทรีย์นั้นจะไปช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ที่ตกค้าง และจะทำให้ส้วมไม่เต็มเร็ว ท่อระบายน้ำก็ไม่อุดตัน   ประโยชน์ข้อต่อมา  สามารถใช้ดับกลิ่นเหม็นต่าง ๆ ได้อย่างดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นเหม็นของห้องส้วม กองขยะ หรือท่อระบายน้ำ โดยนำน้ำจุลินทรีย์ 1 ส่วน ผสมน้ำ 10 ส่วน ราดลงไปบริเวณที่มีกลิ่น หรือผสมจุลินทรีย์ลงไปในถังบรรจุน้ำ ใช้ฉีดล้างตลาด ช่วยดับกลิ่นและกำจัดแมลงวัน แมลงสาบได้ผลดี  นอกจากนี้ ถ้านำน้ำจุลินทรีย์ 1 ส่วน ผสมน้ำ 500 ส่วน นำไปฉีดหรือรดที่ใบหรือโคนต้นไม้ สัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง   จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืช    และยังช่วยลดการก่อกวนของแมลงได้อีกทางหนึ่งด้วย  สำหรับเศษขยะที่เหลือจากการหมัก  สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพดี เพราะเมื่อนำมาผสมกับดินในอัตราส่วน 1:1 จุลินทรีย์ที่แทรกตัวอยู่ในเศษขยะ จะช่วยเร่งการย่อยสลายสารอินทรีย์ ให้กลายเป็นปุ๋ยได้ในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้ยังช่วยให้พืชดูดซับธาตุอาหารต่างๆ ทำให้พืชมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว


ใส่ความเห็น

หมวดหมู่